เรื่องความหมายและความสำคัญขององค์ประกอบศิลป์
มนุษย์เรารับรู้ถึงความสวยความงาม ความพอใจ ของสิ่งต่างๆได้แตกต่างกับ ระดับความพอใจของแต่ละบุคคล
ก็แตกต่างกันออกไปทั้งนี้อาจขึ้นกับรสนิยม สภาพสังคม ศาสนา ความเชื่อและสิ่งแวดล้อมที่ผู้รับรู้นั้นดำรงชีวิตอยู่
หากแต่ว่าผู้รับรู้นั้นได้เข้าใจถึงกระบวนการ องค์ประกอบและพื้นฐานที่สำคัญของสิ่งที่ได้สัมผัส ก็ย่อมทำให้รับรู้ถึงความงาม
ความพอใจนั้นๆเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
ศิลปะนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากนัก เพราะอาศัยแต่ความสุนทรียะทางอารมณ์เพียงประการเดียว
แต่หากว่าได้ศึกษาถึงความสุนทรียะอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่ามันมีกฎเกณฑ์ในตัวของมันเอง ซึ่งผู้เรียนจะต้องศึกษาถึง
องค์ประกอบต่างๆเหล่านั้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นงานศิลปะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้เรียนจะต้องเข้าใจในหลัก
องค์ประกอบของศิลปะ เป็นพื้นฐานเสียก่อนจึงจะสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณค่าและรับรู้ถึงความงามทางศิลปะ
ได้อย่างถูกต้อง
1. ความหมายขององค์ประกอบศิลป์ องค์ประกอบของศิลปะหรือ(Composition )นั้นมาจากภาษาละติน
โดยคำว่า Post นั้นหมายถึง การจัดวาง และคำว่า Comp หมายถึง เข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วในทางศิลปะ
Composition จึงหมายความถึง องค์ประกอบของศิลปะ การจะเกิดองค์ประกอบศิลป์ได้นั้น ต้องเกิดจากการเอาส่วน
ประกอบของศิลปะ (Element of Art) มาสร้างสรรค์งานศิลปะเข้าด้วยหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ (Principle of Art)
จึงจะเป็นผลงานองค์ประกอบศิลป์ ความหมายขององค์ประกอบศิลป์นั้นได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายเอาไว้
ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
คำว่าองค์ประกอบ ตามความหมายพจนานุกรมราชบัณฑิยสถานคือ ส่วนต่างๆที่ประกอบกันทำให้เกิดรูปร่างใหม่ขึ้นโดยเฉพาะ
องค์ประกอบศิลป์ หมายถึง สิ่งที่ศิลปินและนักออกแบบใช้เป็นสื่อในการแสดงออกและสร้างความหมาย
โดยนำมาจัดเข้าด้วยกันและเกิดรูปร่างอันเด่นชัด (สวนศรี ศรีแพงพงษ์ : 82)
องค์ประกอบศิลป์หมายถึง เครื่องหมายหรือรูปแบบที่นำมาจัดรวมกันแล้วเกิดรูปร่างต่างๆ ที่แสดงออกในการสื่อ
ความหมายและความคิดสร้างสรรค์ (สิทธิศักดิ์ ธัญศรีสวัสดิ์กุล : 56)
องค์ประกอบศิลป์ หมายถึงศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดหรือความงาม
ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่วนที่เป็นการแสดงออกอันเป็นผลที่เกิดจากโครงสร้างทางวัตถุ
(ชลูด นิ่มเสมอ :18)
องค์ประกอบศิลป์หมายถึง ส่วนประกอบต่างๆของศิลปะ เช่น จุด เส้น รูปร่าง ขนาด สัดส่วน น้ำหนัก แสง เงา
ลักษณะพื้นผิว ที่ว่างและสี (มานิต กรินพงศ์:51)
องค์ประกอบศิลป์คือความงาม ความพอดี ลงตัว อันเป็นรากฐานเนื้อหาของศิลปะ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
ทางศิลปะให้ผู้สร้างสรรค์ได้สื่อสารความคิดของตนเองไปสู่บุคคลอื่น (สุชาติ เถาทอง,สังคม ทองมี,ธำรงศักดิ์ ธำรงเลิศ
ฤทธิ์,รอง ทองดาดาษ: 3)
จากความหมายต่างๆข้างต้น พอสรุปได้ว่า องค์ประกอบศิลป์ หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อ
ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ โดยนำส่วนประกอบของศิลปะมาจัดวางรวมกันอย่างสอดคล้องกลมกลืนและมีความหมาย
เกิดรูปร่างหรือรูปแบบต่างๆอันเด่นชัด
ซึ่งจากความหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่าการที่จะเกิดผลงานศิลปะดีๆสักชิ้นนั้นผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้กระบวนการ
ที่หลากหลายมาประกอบกันได้แก่ องค์ประกอบพื้นฐานทางศิลปะ องค์ประกอบของศิลปะ และการจัดองค์ประกอบ
ของศิลปะ มาถ่ายทอดลงในชิ้นงานหรือผลงานนั้นๆเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณค่าทั้งด้านความงามและมีคุณค่าทางจิตใจ
อันเป็นจุดหมายสำคัญที่ศิลปินทุกคนมุ่งหวังให้เกิดแก่ผู้ชมทั้งหลาย
2.ความสำคัญขององค์ประกอบศิลป์ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในสาขาต่างๆไม่ว่าจะเป็นสาขาวิจิตรศิลป์
หรือประยุกต์ศิลป์ ผู้สร้างสรรค์นั้นต้องมีความรู้เบื้องต้นด้านศิลปะมาก่อน และศึกษาถึงหลักการองค์ประกอบพื้นฐาน
องค์ประกอบที่สำคัญ การจัดวางองค์ประกอบเหล่านั้น รวมถึงการกำหนดสี ในลักษณะต่างๆเพิ่มเติมให้เกิดความเข้าใจ
เพื่อเวลาที่สร้างผลงานศิลปะ จะได้ผลงานที่มีคุณค่า ความหมายและความงามเป็นที่น่าสนใจแก่ผู้พบเห็น
หากสร้างสรรค์ผลงานโดยขาดองค์ประกอบศิลป์ ผลงานนั้นอาจดูด้อยค่า หมดความหมายหรือไม่น่าสนใจไปเลย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบศิลป์นั้นมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างงานศิลปะ
มีนักการศึกษาด้านศิลปะหลายท่านได้ให้ทรรศนะในด้านความสำคัญขององค์ประกอบศิลป์ที่มีต่อการสร้างงานศิลปะไว้
พอจะสรุปได้ดังนี้
การสร้างสรรค์งานศิลปะให้ได้ดีนั้น ผู้สร้างสรรค์จะต้องทำความเข้าใจกับองค์ประกอบศิลป์เป็นพื้นฐานเสียก่อน
ไม่เช่นนั้นแล้วผลงานที่ออกมามักไม่สมบูรณ์เท่าไรนักซึ่งองค์ประกอบหลักของศิลปะก็คือรูปทรงกับเนื้อหา
(ชลูด นิ่มเสมอ)
องค์ประกอบศิลป์เป็นเสมือนหัวใจดวงหนึ่งของการทำงานศิลปะ เพราะในงานองค์ประกอบศิลป์หนึ่งชิ้น
จะประกอบไปด้วย การร่างภาพ(วาดเส้น) การจัดวางให้เกิดความงาม (จัดภาพ) และการใช้สี(ทฤษฎีสี)
ซึ่งแต่ละอย่างจะต้องเรียนรู้สู่รายละเอียดลึกลงไปอีก องค์ประกอบศิลปืจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่รวบรวมความรู้หลายๆอย่างไว้
ด้วยกัน จึงต้องเรียนรู้ก่อนที่จะศึกษาในเรื่องอื่นๆ (อนันต์ ประภาโส)
องค์ประกอบศิลป์ การจัดองค์ประกอบและการใช้สี เป็นหลักการที่สำคัญในการสร้างสรรค์ให้งานศิลปะ
เกิดความงาม ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม วาดเขียน ประติมากรรม สถาปัตยกรรมและการพิมพ์ภาพ หากปราศจากความรู้
ความเข้าใจเสียแล้วผลงานนั้นๆก็จะไม่มีค่าหรือความหมายใดๆเลย (สวนศรี ศรีแพงพงษ์)
องค์ประกอบศิลป์จัดเป็นวิชาที่มีความสำคัญสำหรับผู้ศึกษางานศิลปะ หากว่าขาดความรู้ความเข้าใจในวิชานี้แล้ว
ผลงานที่สร้างขึ้นมาก็ยากที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะสมัยใหม่ที่มีการแสดงเฉพาะ เส้น สี แสง เงา
น้ำหนัก พื้นผิว จังหวะ และบริเวณที่ว่าง มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องนำหลักการองค์ประกอบศิลป์มาใช้
หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์มีความวำคัญและเกี่วข้องกับงานทัศนศิลป์โดยตรง ทั้งวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์
การจัดภาพหรือออกแบบสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ให้เกิดคุณค่าความงามนั้น การจัดองค์ประกอบศิลป์จะมีบทบาทสำคัญ
มากที่สุด (จีรพันธ์ สมประสงค์: 15)
จากทรรศนะต่างๆ สรุปได้ว่า องค์ประกอบศิลป์เป็นหัวใจสำคัญของงานศิลปะทุกสาขา เพราะงานศิลปะใดหากขาด
การนำองค์ประกอบศิลป์ไปใช้ ก็จะทำให้งานนั้นดูไม่มีคุณค่า ทั้งด้านทางกายและทางจิตใจของผู้ดูหรือพบเห็นขณะเดียวกัน
ก็จะบ่งบอกถึงภูมิความรู้ ความสามารถของผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นด้วย
การที่จะเข้าถึงศิลปะ(Appreciation) นั้น จะต้องผ่านการฝึกฝนและหาทางดูเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งจะต้องมี
รสนิยมที่ดีพอสมควร การฝึกฝน การทำซ้ำๆอย่างสนใจ เมื่อนานเข้าก็จะเกิดความเข้าใจ ทำด้วยความคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้น
จึงจะเข้าใจ รู้เห็นในคุณค่าของศิลปะนั้นๆได้ดี
องค์ประกอบพื้นฐานด้านนามธรรมของศิลปะ
องค์ประกอบพื้นฐานด้านนามธรรมของศิลปะ เป็นแนวคิด หรือจุดกำเนิดแรกที่ศิลปินใช้เป็นสิ่งกำหนดทิศทาง
ในการสร้างสรรค์ ก่อนที่จะมีการสร้างผลงานศิลปะ ประกอบด้วย เนื้อหากับเรื่องราว
1.เนื้อหาในทางศิลปะ คือ ความคิดที่เป็นนามธรรมที่แสดงให้เห็นได้โดยผ่านกระบวนการทางศิลปะ เช่น
ศิลปินต้องการเขียนภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชนบท ก็จะแสดงออกโดยการเขียนภาพทิวทัศน์ของชนบท
หรือภาพวิถีชิวิตของคนในชนบทเป็นต้น
2.เรื่องราวในทางศิลปะ คือส่วนที่แสดงความคิดทั้งหมดของศิลปินออกมาเป็นรูปธรรมด้วยกระบวนการทางศิลปะ
เช่นศิลปินเขียนภาพชื่อชาวเขา ก็มักแสดงรูปเกี่ยวกับวิถีชีวิต หรือกิจกรรมส่วนหนึ่งของชาวเขา นั่นคือเรื่องราว
ที่ปรากฏออกมาให้เห็น
ประเภทของความสัมพันธ์ของเนื้อหากับเรื่องราวในงานทัศนศิลป์นั้น เนื้อหากับเรื่องราวจะมีความสัมพันธ์กัน
น้อยหรือมาก หรืออาจไม่สัมพันธ์กันเลย หรืออาจไม่มีเรื่องเลยก็เป็นไปได้ทั้งนั้น โดยขึ้นกับลักษณะของงาน และเจตนา
ในการแสดงออกของศิลปิน ซึ่งเราสามารถแยกได้ดังต่อไปนี้คือ
(1) การเน้นเนื้อหาด้วยเรื่อง
(2) เนื้อหาที่เป็นผลจากการผสมผสานกันของศิลปินกับเรื่อง
(3) เนื้อหาที่เป็นอิสระจากเรื่อง
(4) เนื้อหาไม่มีเรื่อง
1. การเน้นเนื้อหาด้วยเรื่อง ได้แก่ การใช้เรื่องที่ตรงกับเนื้อหา และเป็นตัวแสดงเนื้อหาของงานโดยตรง
ตัวอย่างเช่น เมื่อศิลปินต้องการให้ความงามทางด้านดอกไม้เป็นเนื้อหาของงาน เขาก็จะหาดอกไม้ที่สวยงามมาเป็นเรื่อง
สีสันและความอ่อนช้อยของกลีบดอกจะช่วยให้เกิดความงามขึ้นในภาพ
2. เนื้อหาที่เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างศิลปินกับเรื่อง ในส่วนนี้ศิลปินจะเสนอความเห็นส่วนตัว หรือผสม
ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปในเรื่อง เป็นการผสมกันระหว่างรูปลักษณะของเรื่องกับจินตนาการของศิลปิน เช่นเรื่องความงาม
ของดอกไม้ โดยศิลปินผสมความรู้สึกนึกคิดของตนเองลงไปในเรื่องด้วย เขาจะดัดแปลง เพิ่มเติมรูปร่างของดอกไม้
ให้งามไปตามทัศนะของเขาและใช้องค์ประกอบทางศิลปะเป็นองค์ประกอบทางรูปทรงให้สอดคล้องกับความงามของเรื่อง
3. เนื้อหาที่เป็นอิสระจากเรื่อง เมื่อศิลปินผสมจินตนาการของตนเองเข้าไปในงานมากขึ้น ความสำคัญของเรื่อง
จะลดลง ดอกไม้ที่สวยที่เป็นแบบอาจถูกศิลปินตัดทอนขัดเกลา หรือเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จนเรื่องดอกไม้
นั้นหมดความสำคัญไปอย่างสิ้นเชิง เหลือแต่เนื้อหาที่เป็นอิสระ การทำงานแบบนี้ศิลปินอาศัยเพียงเรื่อง เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว
เดินทางห่างออกจากเรื่องจนหายลับไป เหลือแต่รูปทรงและตัวศิลปินเองที่เป็นเนื้อหาของงาน กรณีนี้เนื้อหาภายในซึ่ง
หมายถึงเนื้อหาที่ที่เกิดขึ้นจากการประสานกันของรูปทรงจะมีบทบาทมากกว่าเนื้อหาภายนอก หรือบางครั้งจะไม่แสดงเนื้อหา
ภายนอกออกมาเลย
4. เนื้อหาไม่มีเรื่อง ศิลปินบางประเภท ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรื่องเป็นจุดเริ่มต้น งานของเขาไม่มีเรื่อง มีแต่รูปทรง
กับเนื้อหา โดยรูปทรงเป็นเนื้อหาเสียเองโดยตรง เป็นเนื้อหาภายในล้วนๆ เป็นการแสดงความคิด อารมณ์ และบุคลิกภาพ
ของศิลปินแท้ๆ ลงไปในรูปทรงที่บริสุทธิ์ งานประเภทนี้จะเห็นได้ชัดในดนตรีและงานทัศนศิลป์ที่เป็นนามธรรม
และแบบนอนออบเจคตีฟ
องค์ประกอบพื้นฐานด้านรูปธรรมของศิลปะองค์ประกอบพื้นฐานด้านรูปธรรมของศิลปะ คือสิ่งที่แสดงแนวดิดเกี่ยวกับ
เนื้อหาและเรื่องราวของศิลปินให้เห็นหรือรับรู้ผ่านผลงานศิลปะ ประกอบด้วย เอกภาพ ดุลยภาพ และจุดเด่น
1. เอกภาพหมายถึงการนำองค์ประกอบของศิลปะมาจัดเข้าด้วยกันให้แต่ละหน่วยมีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน
ประสานกลมกลืนเกิดเป็นผลรวมที่แบ่งแยกไม่ได้ โดยถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะด้วยกระบวนการศิลปะ
2. ดุลยภาพ คือการนำองค์ประกอบของศิลปะมาจัดเข้าด้วยกันให้เกิดความเท่ากันหรือสมดุล โดยมีเส้นแกนสมมุติ 2 เส้น
เป็นตัวกำหนดดุลยภาพเส้นแกนสมมุติจะทำหน้าที่แบ่งภาพออกเป็นด้านซ้านและด้านขวา หรือด้านบนและด้านล่าง
เพื่อให้ผลงานศิลปะที่ปรากฏเกิดความสมดุลในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่นแบบซ้ายขวาเหมือนกันและแบบซ้าย ขวา ไม่
เหมือนกัน
3. จุดเด่น คือ ส่วนที่สำคัญในภาพ มีความชัดเจนสะดุดตาเป็นแห่งแรก รับรู้ได้ด้วยการมองผลงานที่สำเร็จแล้ว
จุดเด่นจะมีลักษณะการมีอำนาจ ตระหง่าน ชัดเจนกว่าส่วนอื่นทั้งหมด โดยเกิดจากการเน้นให้เด่นในลักษณะใดลักษณะนึ่ง
เช่น จุดเด่นที่มีความเด่นชัด หรือจุดเด่นที่แยกตัวออกไปให้เด่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น